โรงเรียนการเมืองทหาร ตลาดชาวเขาเผ่าม้ง
อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า อ.นครไทย จ.พิษณุโลก (ดูภาพด้านล่าง)
หมายเหตุ : เนื้อหาและรูปภาพในหัวข้ออุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้านี้มีด้วยกันทั้งหมด 5 หน้า ท่านสามารถ click link ชื่อสถานที่ท่องเที่ยวในอุทยานฯ ทางด้านล่างสุดของหน้า เพื่อชมข้อมูลและรูปภาพในหน้าต่าง ๆ ได้ตามความต้องการ
6. โรงเรียนการเมืองทหาร ในอดีตเคยเป็นสถานที่สำหรับให้การศึกษาตามแนวทางของลัทธิคอมมิวนิสต์ควบคู่ไปกับการฝึกด้านการทหาร โดยสมาชิก พคท.จะต้องผ่านการเรียนรู้และฝึกอบรมต่าง ๆ เช่น สรรนิพนธ์ของ “เหมาเจ๋อตุง” , ทฤษฎีวิภาษวิธีและปรัชญาของ “คาร์ล มาร์กซ” ,หัดถอดประกอบชิ้นส่วนของอาวุธปืน , หัดยิงปืน , หัดขว้างระเบิด , ฝึกการฝังทุ่นระเบิดและกู้ทุ่นระเบิดด้วยเข็มกลัด , ฯลฯ มีการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของแต่กลุ่มในแต่ละวัน อีกทั้งยังมีค่าอาหารให้คนละ 30 บาท/วันด้วย
|
ใบเมเปิ้ลเปลี่ยนสีที่ "โรงเรียนการเมืองทหาร" |
|
อดีตสถานที่ฝึกอบรมสมาชิก พคท.บน "ภูหินร่องกล้า" |
ภายในบริเวณโรงเรียนการเมืองทหารมีการสร้างกระท่อมปีกไม้ขึ้นทั้งหมด 31 หลัง แบ่งออกเป็นบ้านพัก – อาคารปฏิบัติการของฝ่ายต่าง ๆ ได้แก่ บ้านฝ่ายพลเรือน ฝ่ายการศึกษา ฝ่ายพลาธิการ ฝ่ายสื่อสาร ฝ่ายเสนารักษ์(สถานพยาบาล) และโรงอาหาร กระท่อมเหล่านี้ปลูกสร้างกระจายตัวอยู่อย่างค่อนข้างเป็นระเบียบภายใต้ร่มเงาของแมกไม้ใหญ่ ส่วนกลางของโรงเรียนการเมืองทหารมีโขดหินก้อนเขื่องซึ่งปกคลุมไปด้วยพืชจำพวกมอส – ตะไคร่น้ำสีเขียวชอุ่มช่วยสร้างความโดดเด่นให้แก่ทัศนียภาพโดยรอบ ในช่วงฤดูหนาวต้นเมเปิ้ลซึ่งขึ้นยืนต้นอยู่ภายในพื้นที่ของโรงเรียนการเมืองทหารจะค่อย ๆ ผลัดใบที่แปรเปลี่ยนจากสีเขียวสดกลายเป็นสีแดงร่วงหล่นอยู่ทั่วบริเวณ ความงดงามตามธรรมชาติเหล่านี้ได้ช่วยกลบฝังร่องรอยแห่งความขัดแย้งในอดีตที่สามารถมองเห็นด้วยตาไปบางส่วน..........แต่ความขัดแย้งที่ได้ฝังรากลึกอยู่ในจิตใจของบรรดาพ่อ แม่ พี่ น้อง ญาติ และเพื่อน ๆ ของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งก่อนเก่านั้น คงยากที่พวกเราจะหยั่งทราบถึง
|
ภายในพื้นที่ของ "โรงเรียนการเมืองทหาร" มีการสร้างกระท่อมปีกไม้เอาไว้ เพื่อใช้เป็นบ้านพักและอาคารปฏิบัติการของฝ่ายต่าง ๆ |
|
..........ความสวยงามของพนาไพร กับ เศษซากในวันเก่า..........
(ภาพที่ 4 จากซ้าย คือ ซากรถแทรกเตอร์ซึ่งฝ่าย พคท.ยึดมาจากบริษัทพิฆเนศ) |
กิจกรรมภายในโรงเรียนการเมืองทหารนอกเหนือไปจากการศึกษาตามแนวทางของลัทธิคอมมิวนิสต์และการฝึกทหารแล้ว ยังมีการจัดงานรื่นเริงเพื่อเป็นการผ่อนคลาย อีกทั้งมีการแต่งบทกลอนและขับร้องบทเพลงต่าง ๆ ด้วย บทกลอนและบทเพลงซึ่งเกิดขึ้นในป่าเขาเหล่านี้บางส่วนยังคงได้รับการเก็บรักษา สืบทอด และขับกล่อมมาจนถึงปัจจุบัน เช่น คืนรัง , นกสีเหลือง เป็นต้น
หากนักท่องเที่ยวลองเดินสำรวจโดยรอบบริเวณต่าง ๆ ของโรงเรียนการเมืองทหารให้ถ้วนทั่วก็จะพบกับซากรถแทรกเตอร์ซึ่งถูกเผาทิ้งไว้ท่ามกลางมวลหมู่แมกไม้ในป่าใหญ่ รถแทรกเตอร์คันดังกล่าวนี้เป็นรถที่ฝ่าย พคท.ทำการยึดมาจากบริษัทพิฆเนศแล้วนำเอาลูกปืนล้อรถไปสร้างเป็น “กังหันน้ำ”
|
กังหันน้ำที่ใช้ยกไม้กระเดื่องตำข้าวเพื่อทุ่นแรงงานคน |
7. กังหันน้ำ ออกแบบ คิดค้นและประดิษฐ์ขึ้นโดย “ส.ธันวา” หนึ่งในนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นที่เดินทางเข้าป่ามาร่วมอุดมการณ์กับฝ่าย พคท. กลไกการทำงานของ “กังหันน้ำ” เริ่มต้นจากการผันน้ำบริเวณน้ำตกใกล้ ๆ ผ่านรางไม้มาหมุนใบพัดของกังหัน เมื่อแกนกังหันหมุนก็จะไปงัดไม้กระเดื่องให้ลอยขึ้นแล้วตกลงมาตามแรงโน้มถ่วงของโลกเพื่อตำข้าวที่อยู่ในครกไม้ด้านล่างทำให้สามารถตำข้าวได้โดยไม่ต้องใช้แรงงานคน ตัวแกนหมุนของกังหันน้ำส่วนหนึ่งประกอบขึ้นจากลูกปืนล้อรถแทรกเตอร์ที่ฝ่าย พคท.ยึดมาจากบริษัทพิฆเนศ กังหันน้ำดังกล่าวนี้ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามโรงเรียนการเมืองทหารใกล้ ๆ กับ “ตลาดชาวเขาเผ่าม้ง” (จากโรงเรียนการเมืองทหารต้องเดินข้ามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2331 มาอีกฟากหนึ่งจึงจะเจอ “กังหันน้ำ” และ “ตลาดชาวเขาเผ่าม้ง” )
|
1.ดอกกระดาษ 2.คุณลุงกำลังสาธิตการเป่าขลุ่ยม้ง (.....กำลังพยายามขายขลุ่ย.....)
3.เพิงจำหน่ายสินค้าบริเวณตลาดชาวเขาเผ่าม้ง 4.ผ้าพันคอหลากสี |
8. ตลาดชาวเขาเผ่าม้ง ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามโรงเรียนการเมืองทหาร ลักษณะเป็นเพิงไม้บุด้วยฟางและสังกะสีก่อสร้างเรียงกันไปตามแนวยาวของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2331 มีชาวเขาเผ่าม้งนำสินค้ามากมายมาตั้งแผงจำหน่ายไม่ว่าจะเป็นผัก – ผลไม้เมืองหนาว , ข้าวเกรียบ , ดอกกระดาษ , หมวกไหมพรม , ผ้าพันคอ ,รองเท้าชาวเขา , ฯลฯ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกซื้อหาของกิน ของใช้ ของที่ระลึก และของฝากต่าง ๆได้ในราคาย่อมเยา
|